Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

การฟอกสีฟัน (Home Bleaching)

27 ก.พ. 2562


"การฟอกสีฟัน” ทำเองได้ง่ายๆ
(Home Bleaching)
 
รู้จักฟอกสีฟันแบบทำเองที่บ้าน…!!
  การใส่เจลที่มีคุณสมบัติฟอกสีฟัน ลงใน Tray ที่พิมพ์ปากคุณไว้ แล้วนำไปสวมไว้สักระยะหนึ่งด้วยตัวคุณเองที่บ้าน ภายใต้คำแนะนำดูแลทันตแพทย์ ตัวยาในเจลจะแตกตัวให้สารที่สามารถซึมผ่านเข้าชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟันทำปฏิกิริยากับสารที่มีในเนื้อฟัน ทำให้โมเลกุลของสีแตกออก สีจะจางหายไปโดยไม่มีอันตรายต่อตัวฟัน ทั้งนี้การฟอกสีฟันชนิดทำเองที่บ้านควรทำสม่ำเสมอ ทุกๆ 4-6 เดือน เพื่อช่วยคงความขาวของฟัน
ก่อนฟอกสีฟันต้องทำอย่างไร…!!
  ต้องเข้าพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจฟัน โดยทันตแพทย์จะให้คำแนะนำและทำการพิมพ์ปากเพื่อทำ Tray เฉพาะบุคคลไว้สวมครอบฟัน หลังจากนั้นจะลองใช้ Tray ที่ทำสำเร็จพร้อมแนะนำปริมาณของเจล เพื่อให้คุณนำกลับไปทำที่บ้าน ดังนั้นผู้ใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัดและรักษาสุขภาพอนามัยพายในช่องปากและฟันให้ดี
วิธีการฟอกสีฟันที่บ้าน
  1. ก่อนฟอกสีฟัน ควรทำความสะอาดฟัน
  2. ใส่น้ำยาฟอกสีฟันที่มีลักษณะเป็นเจลใสๆ 1 - 2 หยดไปบริเวณด้านแก้มของฟันที่ทันตแพทย์ได้แนะนำไว้
  3. ใส่ถาดฟอกสีฟันในปากให้สนิท ใช้สำลีชุบน้ำเช็ดส่วนที่เกินออกนอกถาดฟอกสีฟัน ใส่ตอนนอน 6 - 8 ชั่วโมงต่อวัน หรืออย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวัน ในตอนกลางวัน
  4. กลับมาตรวจเช็คใน 4 - 7 วันแรกเพื่อตรวจดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น
  5. ฟอกต่อเนื่องจนกว่าจะได้ผลที่พึงพอใจ โดยปกติจะเห็นผลเต็มที่ภายใน 2 สัปดาห์ ประมาณ 80% ระยะเวลาในการฟอกประมาณ 2 - 6 สัปดาห์
ข้อดีของการฟอกสีฟันแบบทำเองที่บ้าน
  • สามารถทำได้เองที่บ้าน
  • มีผลข้างเคียงน้อยมากและมีความปลอดภัยสูง
  • มีโอกาสเกิดอาการเสียวฟันจากการฟอกสีฟันน้อย
  • ราคาไม่สูงมาก
  • สามารถพกพาได้สะดวก สะดวกสบายสามารถทำเวลาไหนก็ได้
   ปัจจุบันการฟอกสีฟัน ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นการสร้างความมั่นใจและสร้างบุคลิกภาพ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มความงามบนใบหน้า แม้การฟอกสีฟันจะสามารถทำเองได้ที่บ้าน รวมถึงมีอุปกรณ์ฟอกสีฟันที่สามารถทำได้เองออกขายในท้องตลาด แต่ก็ควรได้รับคำแนะนำจากทันตแพทย์ก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคเหงือกหรือฟันผุ อาจต้องเข้ารับการรักษาโรคดังกล่าวก่อนเข้ารับการฟอกสีฟัน รวมถึงผู้ที่มีอาการเสียวฟัน ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาเหงือกร่น ฟันสึก หรือเกิดจากการรั่วของวัสดุที่อุดฟัน เป็นต้น

สนับสนุนข้อมูลโดย : ทพญ. กัญธนัช ฉัตรวรัทธนา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมเฉพาะทางรากเทียม
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745                                                                              

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.